ReadyPlanet.com
dot dot
dot
หมวดหมู่สินค้าหรือบริการ
dot
bulletหนังสือ
bulletการรักษา
bulletการนวด
bulletการบริการ
bulletทีมแพทย์
bulletประสบการณ์ผู้ป่วย
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
bulletมูลนิธิดุลยภาพบำบัด
dot
Newsletter

dot


Dunyapab Facebook


ฝังเข็ม การรักษาเฉพาะจุดที่มีผลต่อองค์รวม article

บทความเรื่อง "ฝังเข็ม การรักษาเฉพาะจุดที่มีผลต่อองค์รวม"
 
เขียนโดย รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ
 
 
ฝังเข็ม การรักษาเฉพาะจุดที่มีผลต่อองค์รวม
 
 
 สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543 เป็นคำที่ทุกท่านที่ทำงานทางด้านสาธารณสุขคุ้นเคยและใฝ่ฝันที่จะให้บรรลุเป้าหมาย  สุขภาพจะดีได้คงต้องเน้นการป้องกันและฟื้นฟูก่อนจะเกิดสุขภาพเลวมากกว่าที่จะรณรงค์เฉพาะเมื่อเกิดอาการและมีโรคแล้ว  ยิ่งกว่านั้นอาการและโรคมีมากมายจนไม่ทราบว่าจะขึ้นต้นด้วยอาการและโรคใด   ที่สำคัญที่สุดประชาชนทุกคนที่ต้องมีบทบาทร่วมด้วยจากวิธีการพึ่งตัวเองได้  เพราะในชีวิตหนึ่งนั้น วัฎจักร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องประสบทุกคน  แต่ทั้ง 4 คำนี้จะทำอย่างไรจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยวิธีการที่ง่ายในการเรียนรู้ ประหยัด ปลอดภัย รวดเร็วและสามารถกระทำได้อยู่ตลอดเวลา  ยิ่งกว่านั้นทำได้ครบวงจรคือทุกอายุ เพศ วัยและทุกสถานการณ์ ไม่ว่าขณะนี้สุขภาพดี เลว หรือเพื่อฟื้นฟูสู่สภาวะที่ปรกติ
 

  ทั้งหมดนั้นคือความฝันของผู้ที่มีจิตวิญญาณของนักวิชาการ ผู้บริหาร ผู้ที่ให้บริการด้านสุขภาพ นอกเหนือจากประชาชนธรรมดาทั้งโลก
 
  ดังนั้น เวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพองค์รวมที่เสนอแนวคิดทั้งด้านของพยาธิสภาพ  ปัจจัยการเกิดโรค (อาการ) การป้องกัน รักษาแบบครบวงจร  ทุกคนเรียนรู้ได้ในขั้นพื้นฐานแต่มิใช่ลงมือฝังเข็มได้  ทุกคนสามารถร่วมรักษาได้ หมายถึงในครอบครัวที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด ซึ่งจะเขียนให้เป็น 3 ขั้นตอน
 
1. ทำความเข้าใจก่อนว่า ฝังเข็มเกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์รวมอย่างไร
 2. ปัจจัยการเกิดโรค ในมุมมองของเวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่
 3. การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบครบวงจรจริงหรือไม่
 


1. ทำความเข้าใจก่อนว่า ฝังเข็มเกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์รวมอย่างไร
 
  ฝังเข็มนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่ยุคสมัยหิน ตั้งแต่มนุษย์ยังไม่รู้จักโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด เพียงแต่ระงับอาการเท่านั้น  อาการปวดเป็นสิ่งสำคัญที่น่าเรียนรู้และรับรู้  ผู้ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพนั้น มิใช่จะใช้เข็มเป็นเพียงวิธีเดียว  ในสมัยโบราณผู้รู้จะรอบรู้การใช้ฝ่ามือ นิ้วมือ กดจุด นวด รมควัน ตามจุด การใช้สมุนไพร อาหาร ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ทิศทางลม กระแสน้ำ ที่จะมีบทบาทต่อสถานที่บ้านเรือนอยู่อาศัย  เมื่อมีวิวัฒนาการเรื่อยมา แขนง สาขาที่ถูกแยกกันเพื่อมนุษย์จะได้มีผู้เชี่ยวชาญสาขา ชำนาญการเฉพาะทาง ลงด้านลึกมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น  ความคุ้นเคยกับการแยกส่วนและการคิดค้นคว้าในด้านลึกและเฉพาะจุดจึงมีมากขึ้น  การมองเรื่องฝังเข็มจึงเป็นการเรียนรู้เฉพาะจุดเท่านั้น  และยิ่งไปกว่านั้น มีการพยายามค้นคว้า วิจัยว่าฝังเข็มระงับอาการปวด มีสารอะไรหลั่ง มีผลกระทบต่อจุดไหนเพียงจุดเดียวที่ทำให้โรคเหล่านั้นหายได้ตามความคุ้นเคยด้านการแพทย์ตะวันตกที่ใช้ยาหรือเครื่องมืออันเป็นวิวัฒนาการก้าวหน้ายุคปัจจุบัน  แต่ยิ่งลงลึกเท่าไร เหมือนหลงทางมากขึ้น  เนื่องจากการแบกส่วนว่าโรคนี้จำจุดในร่างกาย รักษาเฉพาะโรค (อาการ)   เมื่อหายแล้วจากอาการปวดก็จบไว้แค่นั้นเอง  ผู้ป่วยเมื่อหายอาการก็จะกลับมาใหม่และเมื่อมีอาการใหม่ โรคใหม่ ก็ขอรับการรักษาด้วยอาการใหม่เป็นวงเวียนชีวิตที่ไม่สิ้น  ซึ่งมิใช่เป็นทางออกอันแท้จริง
 
  องค์รวมของเวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่ หรือการฝังเข็มแบบโบราณ คงใช้แนวคิด (Concept) เดียวกัน  รวบรวมวิธีการตามธรรมชาติเข้าด้วยกันหมด
 
  วิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติที่จะเรียนรู้ฝึกปฏิบัติเองได้ สอนได้ โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีที่สลับซับซ้อน เพียงใช้ความวิจิตรพิสดารของกลไกธรรมชาติ ในร่างกายมนุษย์เท่านั้น เพื่อการปรับสมดุลด้วยตนเอง  หากการใช้สัมผัสทั้งห้าไม่ได้แล้ว ก็จะใช้ของนอกกายเข้าไปปรับสมดุล  แต่มิใช่สิ่งแปลกปลอม  ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเช่นกัน
 
  ยุคโบราณ ตั้งเป็นทฤษฎี ดิน น้ำ ลม ไฟ เส้นเมอริเดียน (Yin Yang) เป็นตัวกำหนดของความสมดุลและการวินิจฉัย ใช้ดูอวัยวะภายนอก สีผิว ตา หู ลิ้น และคลำชีพจร  การเรียนการสอนจากประสบการณ์ส่วนใหญ่และเป็นการฝึกปฏิบัติจากใจรัก มิได้เน้นที่อาชีพ  เมื่อสังคมเปลี่ยนไป บทบาทของการฝึกปฏิบัติย่อมเปลี่ยนไป  องค์รวมก็ค่อยๆ หดตามไปด้วย เหลือวิธีการให้พบเห็นน้อยลง จะกลายเป็นการแยกส่วนมากขึ้นนั่นเอง  ความเข้าใจผิดของวิธีการฝังเข็มจึงมากขึ้น  การเรียนรู้ในระบบองค์รวมน้อยลงตามลำดับ  เวลาเดียวกันการบรรลุเป้าหมายของสุขภาพดีถ้วนในหน้าปี พ.ศ. 2543 ยิ่งไกลออกไปทุกที
 
  ดังนั้น ความหมายขององค์รวมในบทบาทของการฝังเข็มนั้น คือ วิธีการหนึ่งในหลายวิธีการที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ส่วนสำคัญที่สุด  ทุกวิธีการนั้นจะต้องมองเป็นหนึ่งเดียวที่ร่างกายมนุษย์ โดยมนุษย์เองจะต้องเรียนรู้โครงสร้างตนเองที่จะมีความสมดุลกันอย่างไร  เพื่อปรับสภาพตนเองให้มีสุขภาพดี ก่อนเป็นสุขภาพเลว ด้วยการพึ่งตนเองก่อน  ใช้อวัยวะและสัมผัสทั้งห้าที่มีอยู่ ฟื้นฟูตนเองได้ตลอดเวลา ในวิธีการต่างๆ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ซึ่งเรียงตามขั้นตอนให้สั้นๆ
 


1) Education  การอบรมเรียนรู้ให้เข้าใจถึงร่างกายมนุษย์ โครงสร้างมนุษย์ที่เชื่อมโยงกันตลอดเวลา และอยู่กันอย่างสมดุลตลอดเวลา  หากเบี่ยงเบนไปจนพ้นขีดความสมดุลแล้ว อาการโรคต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้
 
2) Equilibrium ความสมดุลนั้น ควรมองตั้งแต่ภายนอกร่างกาย เช่น จิต สังคม (เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม) เป็นสามมิติ
 
(สามเหลี่ยม 1)
 
  กายก็มิใช่อวัยวะ ต้องมีหลักเกณฑ์มองตั้งแต่ภายนอกแบบมหภาค (Macroscopic) จนกระทั่งจุลภาค (Microscopic) ถึงระดับโมเลกุลได้ ทว่าต้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบแยกส่วนกันออกไม่ได้ดังคำ “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่งต้องมีสายกลาง
 
(สามเหลี่ยม 2)
 

  ทั้งสามนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและจะมีผลกระทบต่อกันได้ตลอดเวลาหาดแต่ละจุดไม่สามารถรักษาสมดุลในตัวเองไว้ได้ เช่น ขาหรือแขน มีสองข้าง หากสั้นข้างยาวข้าง ย่อมมีผลกระทบต่อตำแหน่งของกล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท ทางเดินน้ำเหลือง เอ็น ข้อต่อ แม้กระทั่งกระดูกสันหลัง ตลอดจนอวัยวะภายในทุกระบบมากบ้างน้อยบ้าง  หน้าที่ของเนื้อเยื่อก็จะเปลี่ยนแปลงตามผลกระทบนั้นๆ  ในเวลาเดียวกัน มือแขนที่ใช้โหนรถเมล์ หิ้วกระเป๋าเป็นเวลานานๆ ระยะทางไกลๆ ย่อมมีส่วนกระทบที่สำคัญเช่นกันต่อรูปร่าง ลักษณะและตำแหน่งของอวัยวะทุกระบบ ตามสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลง  ความสมดุลของร่างกายย่อมมีบทบาทตลอดเวลา ซึ่งทำโมเลกุลจะพยายามต้านกันเองเพื่อการดำรงชีวิตไว้

3) Eating  อาหาร มนุษย์ทุกคนต้องการอาหารเพื่อความอยู่รอดซึ่งโปรตีนเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทต่อคอลลาเจน และองค์ประกอบสำคัญของเซลล์  ดังนั้นสารเป็นพิษหรือไม่ย่อมสะท้อนถึงโครงสร้างของมนุษย์เช่นกัน  การรับของเข้าร่างกายมนุษย์ทางปากย่อมมีบทบาทสำคัญเป็นพื้นฐานหนึ่งของการดำรงชีวิตให้มีสุขภาพดี
 
4) Exercise การออกกำลังกาย ทุกคนคจะนึกภาพว่าต้องไปวิ่ง เดิน หรือเล่นกีฬาใดกีฬาหนึ่ง  การบริหารที่สำคัญที่มนุษย์เรานั้นลืมกันเกือบหมดว่า การพึ่งตนเอง อตฺตา หิ อตฺตโนนาโถ เริ่มแต่การเกิดของทารก ต้องหายใจที่ทำคนต้องทำวันละสองหมื่นถึงสามหมื่นครั้ง แต่มนุษย์เรามิได้เรียนรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ คือการบริหารการหายใจ (breathing exercise) ซึ่งเป็นองค์รวมอีกเช่นกัน  การหายใจนั้นมิได้หมายถึงผลกระทบเพียงปอด ทางเดินหายใจเท่านั้น  การมีสติเพื่อควบคุมการหายใจ เมื่อทำไปแล้วผลกระทบถึงระบบสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงได้หลายระดับ  รวมถึงเนื้อเยื่อที่ระบบทั่วร่างกายจนกระทั่งถึงกล้ามเนื้อโครงสร้างหลัก  ในเวลาเดียวกันการเคลื่อนไหวกับระบบการหายใจผสมผสานกลมกลืนกันได้อย่างไร ทั้งหายใจเข้าและออก พื้นฐานโครงสร้างไม่สมดุลมีผลกระทบถึงระบบหายใจ  ทางตรงข้ามการหายใจที่ไม่สมดุลมีผลต่อโครงสร้างได้เช่นกัน
 
5) Excretion ทั้งเข้าและออกมิใช่มีเพียงลมหายใจ อาหารก็ต้องมีออกตามระบบขับถ่ายของร่างกาย ซึ่งต้องการความรู้ขั้นพื้นฐานอีกเช้นกันว่าเชื่อมโยงกับโครงสร้างได้อย่างไร และมีผลกระทบจากสังคม สิ่งแวดล้อม อาหารอย่างไรบ้าง  เซลล์ที่เล็กที่สุดได้รับอาหารแล้วก็ต้องมีทางที่จะระบายออก  หากมีปัญหาในการแตกตัวหรือตามท่อระบายหรือศูนย์บังคับย่อมต้องมีปัญหาทั้งสิ้น  สรุปทั้งภายนอกและภายในอีกเช่นกันซึ่งเราไม่สามารถดูทางเดียวได้ ควรทั้งวงจรและทุกอวัยวะอีกเช่นกัน
 
6) Emotion  อารมณ์มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่ว่าจะฝึกอบรมพัฒนาตนได้มากน้อยเพียงใดให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ  ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์และยอมรับกันมากขึ้นว่า ความเครียด อารมณ์ มีบทบาทต่อโรคมาก แม้กระทั่งโรคมะเร็ว ความเครียดนั้นทำให้ภูมิต้านทานต่ำลงได้ ซึ่งเป็นชนวนสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะความเครียดมีได้ทุกคนและการฝึกจิตนั้นสามารถกระทำได้ทุกคนเช่นกันทุกขณะหากมีการฝึกฝนตน
 
7) Environment   สิ่งแวดล้อม  อาการที่ไม่เป็นพิษ ย่อมส่งผลต่อร่างกายอย่างมหาศาล  หากเราเข้าใจถึงผลกระทบทุกระบบต่อตัวมนุษย์เองแล้ว ความตระหนักถึงบทบาทการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ได้อาหาร อากาศ สังคมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อโครงสร้างมนุษย์อย่างชัดเจนก็คงจะสะท้อนถึงสุขภาพที่ดีได้
 
  บัญญัติ 7 ประการนี้อยู่ในเวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่ที่มีผลต่อสุขภาพแบบองค์รวมชัดเจน เป็นองค์ประกอบที่มนุษย์กระทำตลอดเวลา  ความรู้พื้นฐานนี้ทุกคนที่จะได้รับการบำบัด รักษาและป้องกันจะได้เรียนรู้ก่อนทุกคน ซึ่งจะบ่งชี้ถึงการพัฒนาตนเอง  ในขณะที่มนุษย์ทุกคนจะอยู่กับตัวเอง 24 ชั่วโม แต่มีส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่จะพบแพทย์และใช้เข็มเข้าช่วย  เมื่อเสร็จแล้วก็ย่อมต้องกลับไปช่วยตนเองต่อจึงจะบรรลุเป้าหมาย  การบริหารร่างกายนั้นต้องใช้ทุกส่วนของร่างกาย  แม้ว่าจะใช้สัมผัสด้วยมือ ด้วยตนเองก็ตาม เช่น การกดนวดคลึงสามารถใช้ได้อย่างสม่ำเสมอเป็นการที่จะเทคโนโลยีที่ล้ำค่าที่มีอยู่ในตนเองทุกคนอยู่แล้วเพียงแต่จะไปปฏิบัติได้หรือไม่เท่านั้น
 

  วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จึงรวมอยู่ในองค์รวมร่วมกับการปฏิบัติด้วยเข็มนั่นเอง ซึ่งเราไม่สามารถแยกได้โดดๆ ว่า ควรต้องทำจุดเดียวเท่านั้นแล้วโครงสร้าง หน้าที่ของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลง  แต่แน่นอนความเปลี่ยนแปลงย่อมต้องมีได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิผลสูงขึ้น  เมื่อใช้เข็มเข้าไปช่วยอีกวิธีหนึ่งเท่านั้น

2. ปัจจัยการเกิดโรค ในมุมมองของเวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่
 
  ปัจจัยการเกิดโรคนั้นมีมากมายในแผนตะวันออกซึ่งฝังเข็มมีความเกี่ยวข้องด้วย จะพูดเป็นภาพรวมคือ ความสมดุลของทุกระบบที่มีอยู่ในจักรวาลรอบนอกร่างกาย ทุกสภาวะแวดล้อม ทุกฤดูกาล ทิศทางของลม พายุ สังคม เศรษฐกิจ ของแต่ละบุคคล  แต่จะพูดให้แคบเข้าคือ ทุกปัจจัยนั้นจะส่งผลต่อระบบโครงสร้างมนุษย์  แม้แต่พฤติกรรมการกินอยู่ก็จะมีบทบาทเช่นกัน  แนวคิดนั้นเราต้องการสุขภาพองค์รวมของใคร ก็ของมนุษย์นั่นเอง  มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจากอีกหลายส่วน  ฉะนั้น เราย่อมต้องมามองที่มนุษย์เอง คือ หลักในศาสตร์ของมานุษยวิทยา (anthropology) ซึ่งมีแนวที่สำคัญเรียกว่า Anthroposophical Medicine ซึ่งต้องเรียนรู้ในกายวิภาคที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับสังคมสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์อันยาวนาน เผ่าพันธุ์มนุษย์ ตลอดจนผลกระทบทุกอย่างของชีวิตประจำวัน
 

  โครงสร้างหลักนั้นน่าจะมองถึง กระดูกสันหลัง ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับทุกระบบ แม้กระทั่งอวัยวะภายใน  การเกี่ยวข้องในหน้าที่ของแต่ละอวัยวะนั้นๆ ก็เช่นกัน ย่อมต้องมีโครงสร้างเป็นพื้นฐานและศูนย์บังคับการตามมาเมื่อมีการเคลื่อนไหวด้วย
 
ลองนึกภาพแม่ที่มีโครงสร้างบิดเบี้ยว มีพฤติกรรมการเดิน นั่ง ยืน รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ย่อมส่งผลกระทบต่อลูกตั้งแต่ในครรภ์  ยิ่งถ้าหากระหว่างการคลอดมีปัญหา แม้ว่าหลังเกิดแล้วร้องไห้ได้ ตัวแดง แต่ส่วนที่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง ซึ่งบ่งชี้โรคอีกมากมายตามมา  จุดนี้ยังมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องน้อยมาก  ความเชื่อมโยงที่เป็นระบบองค์รวม คือ การรอคอยเวลานั่นแหละ ผลดีผลเสียย่อมตามมา จะเร็วหรือช้าอยู่ที่ส่วนร่วมของการกระทำต่อหลายระบบที่ทำให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อได้แตกต่างกัน  รายละเอียดของเนื้อเยื่อแต่ละจุดเราไม่สามารถแบ่งแยกกันจากกันได้โดยเด็ดขาด กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท ทางเดินน้ำเหลือง เอ็น ข้อต่อ กระดูก อวัยวะภายในภายนอก จะเดินถึงกันหมดและตลอดเวลาด้วย  น้ำเหลืองนั้นคนเรามักจะลืมไปว่ามีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนของร่างกายจากของเหลวที่ผ่านทุกระบบนั้นมีอยู่ถึง 10%  หากว่าเกิดการคั่งค้างของสารในแต่ละส่วนย่อม ส่งผลกระทบทั่วร่างกายแน่แท้
กระดูกสันหลังนั้นเป็นส่วนกลางที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยเอ็นข้อต่อและยึดด้วยกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องมีเส้นประสาทและหากไม่มีอาหารไปหล่อเลี้ยงประสาทก็ไม่ได้  แม้พบว่ามีอาหารพลังงานผ่านไปได้ แต่ทางออกของเสียเกิดอุดตนก็จะสะท้อนไปถึงต้นทางหัวใจได้ในทางเดียวกัน  เส้นเลือดหัวใจจะทำงานย่อมต้องมีศูนย์บังคับคือ ระบบประสาทอัตโนมัติที่อยู่นอกเหนือจิตใจ  หากไม่มีการฝึกจิต ในทางตรงกันข้ามหากมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อ เมื่อได้รับอันตรายจากจุดเล็กๆ (micro injury) ที่เกิดจากสารเคมี ภายใน ภายนอก อาหารที่เป็นพิษ พฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเล็กๆ จนถึงโครงสร้างหลักได้เช่นกัน  เพียงแต่ระยะเวลานั้นยาวนานขึ้นอยู่กับอาชีพ อาหาร พฤติกรรมของแต่ละบุคคลไป
  
ยกตัวอย่างเช่น คนขาสั้นข้างยาวข้าง ดูเผินๆ สำหรับคนที่ไม่แยแสต่อความสวยงามก็คิดว่าไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามองให้ลึกและกว้างแล้ว  ทุกระบบของร่างกายจะพยายามต้านกันไว้ เพื่อความอยู่รอดของเนื้อเยื่อ (ชีวิต) แต่ละส่วน  หากยังรักษาสมดุลได้ หรือมนุษย์ผู้นั้นทนทานต่อความเจ็บปวดได้ก็ยังไม่เดือดร้อน สำหรับชิ้นส่วนในร่างกายก็จะเสียสมดุลและบ่งชี้โรคได้ง่ายขึ้น  ไม่เพียงแต่อวัยวะภายนอกเท่านั้น อวัยวะภายในยังได้รับความกระทบกระเทือนเช่นกัน  ซึ่งผลกระทบต่ออวัยวะใดก็ขึ้นอยู่กับเส้นเลือดนั้นๆ พร้อมกันไป เช่น อาการปวดท้อง เนื่องจากทานอาหารไม่เป็นเวลา พฤติกรรมที่บกพร่อง  หากเราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะความจำเป็นในสังคมได้ ก็ควรกลับมาพัฒนาตนเองให้เข้ากับสังคมนั้นๆ โดยเริ่มแก้จุดบกพร่องในร่างกายที่ไวต่อการเกิดความไม่สมดุล มีกรดออกมามากทำให้ปวดท้องได้  ไม่เพียงแต่ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อลดกรดอย่างเดียว ควรพิจารณาดูโครงสร้างอย่างมีสติ ปรับศูนย์บังคับให้เกิดความไวต่อการเกิดความไม่สมดุลที่จะทำให้กรดออกมามากผิดปกติ ซึ่งมีอยู่ในร่างกายมนุษย์อย่างครบถ้วน โดยใช้ทางเลือก (alternative method)  บัญญัติ 7ประการในข้อ 1 นั้นได้ ก็เท่ากับการปรับเปลี่  ยนพฤติกรรมเริ่มขึ้นอย่างง่ายๆ ทีละน้อย  ในเวลาเดียวกันการเปลี่ยนอิริยาบถ ลดความเครียดของทุกระบบในร่างกาย ช่วยลดการทำลายเนื้อเยื่อในกระเพาะได้ส่วนหนึ่ง  อีกด้านหนึ่งอิริยาบถในการทำงานของมนุษย์นั้น หากโครงสร้างของกระเพาะเองถูกดึงรั้งหรือกดทับอยู่ด้านใดด้านหนึ่งนานๆ ย่อมมีบทบาทต่อหน้าที่ได้อย่างมาก  การพิจารณาปัจจัยของการเกิดโรคนั้นน่าจะเริ่มมองจากภายนอกก่อนจะถึงภายใน  แม้ว่าจะมองภายใน จุดลึก จุดเล็กๆ เช่น มองว่ากรดเท่านั้นคือตัวปัญหา เราคงจะหาทางออกในการแก้ปัญหาของสุขภาพได้ยากเป็นแน่แท้ เพราะจะแก้เพียงจุดเดียว
  
  สรุปแล้ว ปัจจัยของการเกิดโรคของเวชกรรมฝังเข็มแนวใหม่นั้นเป็นองค์รวม เช่นเดียวกัน โดยยึดโครงสร้างของกระดูกสันหลังเป็นหลักและเชื่อมโยงไปทุกระบบด้วยความสมดุล  หากมีจุดบกพร่องส่วนใดสส่วนหนึ่งย่อมมีผลกระทบไปทุกระบบ และมีอาการต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน (ซึ่งในระบบการแพทย์ตะวันตกอาจเรียกเป็นโรคที่แตกต่างกันออกไป)  ความรุนแรงของโรคขึ้นกับความบกพร่องของโครงสร้าง และหน้าที่ รวมทั้งจิตและสังคม สิ่งแวดล้อม ระยะเวลาของการทำลายของเนื้อเยื่อกับการฟื้นฟูความบกพร่องส่วนนั้นด้วย  ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เป็นความคุ้นเคย  แต่ทว่าเราหันมามองทุกระบบพร้อมๆ กัน โดยการดูโครงสร้างหลักของมนุษย์ว่าตรงหรือไม่ แกนมุนไปกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด มีความสมดุลเพียงพอหรือไม่  เราคงจะได้วิธีการซึ่งเป็นทางเลือกแก่มวลมนุษย์ในการพัฒนาตนเองแบบง่ายๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรงได้ในอนาคต

3. การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบครบวงจรจริงหรือไม่
 
  การกระทำเพื่อแก้ปัญหา หากไม่ครบวงจรแล้วถือว่าแก้ปัญหาแบบไม่ถอนรากถอนโคน ก็จะกลับมาใหม่และแก้ได้ยากกว่าเดิมหรือไม่หักเหจุดปัญหาออกนะบบสุขภาพเช่นกัน เราคุ้นเคยกับอาการ (โรค) ต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์ไปพบแพทย์หรือไปปรึกษาผู้รู้  เมื่ออาการเหล่านั้นหายไปยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าวิธีนั้นคือทางออกทางแก้ปัญหาได้ดีที่สุด มนุษย์จึงพยายามคิดค้นหาวิธีการต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์ด้วยกันพอใจมากขึ้น  แต่ปัจจุบันเราเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดตามมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้จบ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ปัญหาจากยาแก้ปวด  การฝังเข็มก็เช่นเดียวกัน หากเรามองเพียงการแก้ปัญหาในการระงับปวดเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ปัญหาอีกนานับประการ  ดังการมองแบบเก่าที่ใช้จำจุดรักษาอย่างเดียว
 
1. จุดที่ใช้ก็เน้นเฉพาะจุดทุกคนเหมือนกัน ใช้ซ้ำๆ กันจุดเดียวอาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อช้ำได้เรียกว่าเส้นประสาทอักเสบ (neuritis) หากปักไปโดนเส้นประสาท หรือเพียงผลที่ต้องการเพื่อให้สารหลั่งออกมาในบทบาทของการระงับการปวดเพียงอย่างเดียว
 
2. เมื่ออาการปวดซ้ำแล้วไม่สามารถป้องกันให้เกิดได้ เพียงแต่เป็นการรับสถานการณ์ในการบำบัดความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเพียงวิธีแก้ปัญหา จากยาระงับปวดหรือฉีดยาระงับปวด หรือฉีดทำลายเส้นประสาท หรือตัดเส้นประสาท มาเป็นการประคับประคอง แก้ปลายเหตุเท่านั้นในการบรรเทาความเจ็บปวด
 
3. การวินิจฉัยด้วยใช้ระบบเส้น (meridian และ channel) แล้ววัดยากจำจุดต่างๆ ยาก เมื่อปัจจัยการเกิดโรคเป็นองค์รวมแล้ว พื้นฐานของมานุษยวิทยานั้น ร่างกายมนุษย์ย่อมแตกต่างกันได้ตลอดเวลา (dynamic) ดังนั้น เมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา สังคม สิ่งแวดล้อม อาหาร เศรษฐานะของมนุษย์แต่ละประเทศแตกต่างกันไป ร่างกายย่อมแตกต่างกันไปอย่างแน่ชัด  ฉะนั้น การวิเคราะห์วินิจฉัยโรคก็ควรกระทำกันให้ครบวงจรและเข้ากับสถานภาพของร่างกายมนุษย์แต่ละประเทศแต่ละจังหวัด  ความยากง่าย ก็มีความสำคัญที่ทำให้การบำบัดรักษา ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
 
 ทางออกที่ทำให้ฝังเข็มเป็นวิธีการครบวงจรจะเป็นทางเลือกใหม่ในวิธีการต่างๆ ที่ไม่ใช่ยา (non-drug) ควรจะมีแนวคิดและหลักการที่สำคัญเช่นเดียวกับข้อ 1 และข้อ 2 คือ ควรเรียนทุกระบบข้าด้วยกันตามบัญญัติ 7 ประการในข้อ 1 เป็นองค์รวมทั้งวิธีการ ใช้โครงสร้าง ตำแหน่ง และหน้าที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค รวมทั้งระบบนอกร่างกายมนุษย์ จิต สังคม เพื่อรณรงค์ให้สุขภาพดีไว้ไม่ให้เป็นสุขภาพเลว  แม้ว่าสุขภาพเกิดเลวก็สามารถแก้ไขพร้อมทั้งฟื้นฟูสู่สภาพที่ดีขึ้นโดยเร็ว เป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการป่วยกลับมาอีก  แม้ว่ากลับมาอีกสามารถช่วยตนเองได้หรือรู้ถึงจุดปัญหา วิเคราะห์เองสามารถช่วยผู้อื่นได้  ยกตัวอย่างเช่น
 จุดที่ใช้เมื่อเกิดอาการปวด ต้องไม่ใช่จุดเดิม  โรค (อาการ) เดียวกันในผู้ป่วยแตกต่างกันไปย่อมแตกต่างกันไป และวันที่ได้รับการรักษาย่อมแตกต่างกันเช่นกัน  เพราะความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ย่อมไม่ซ้ำหรือเหมือนกันเลย  ที่สำคัญจุดเกิดโรคนั้นต้องมีขั้นตอนใหญ่ 3 ขั้นตอน  การหาสาเหตุต้องพยายามไต่หาจุดต้นตอให้พบ สุดท้ายจึงพัฒนาเทคนิคธรรมชาติให้ไปตามสาเหตุและต้นตอทั้งระบบ เช่น อาการปวดที่แขน มิใช่พยายามปักที่จุดที่หายเจ็บแล้วพอแค่นั้น  ควรมองปัญหาทั้งระบบว่าเกิดได้อย่างไร สาเหตุองค์รวมต้นตออยู่ตำแหน่งใดได้บ้าง กระทั่งประวัติอันยาวนานที่ทำให้เกิดปัญหา แม้ทีละน้อยก็ต้องพึงสังวรณ์ไว้  และเมื่อได้จบครบแล้ว ควรมองไปในอนาคตด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราแก้ไขไม่ให้ปวดแล้ว จุดบกพร่องที่มิได้แก้ไข  อย่างน้อยต้องเริ่มด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยทราบเอง เพื่อพัฒนาตนมิให้เกิดอาการปวดใหม่  หรือแม้ว่าเกิดแล้วสามารถมีวิธีช่วยตนเองได้และป้องกันมิให้เกิดโรคใหม่ได้จากอาการปวดแขนที่เกิดขึ้นเท่านั้น
 
ทั้งสามระบบที่กล่าวนี้ นับว่าเป็นวิธีครบวงจรจากการใช่วิธีการง่ายๆ ทั้งระบบจากข้อ 1 ในบัญญัติ 7 ประการ และมองปัจจัยการเกิดโรคในข้อ 2 และการกระทำคือ โน้มน้าวจิตใจผู้ป่วยเมื่อเข้าใจแล้วสามารถปฏิบัติเองได้อย่างครบวงจรจากองค์รวมทั้งหมด  ที่ได้กล่าวข้างบนนี้น่าจะเพียงพอสำหรับความเข้าใจในพื้นฐานของการฝังเข็มที่มีบทบาทต่อสุขภาพแบบองค์รวมได้ ซึ่งอาจจะเรียกแบบบูรณาการก็ได้
 
การฝังเข็มที่เขียนนี้ เป็นการรักษาเฉพาะจุดก็จริง แต่เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงได้ (dynamic) ไม่ใช่จุดเดิม (static)  การมองปัจจัยการเกิดโรคมิได้มองอวัยวะเป็นส่วนๆ ทว่ามองแบบเชื่อมโยงกันทุกระบบ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  สำหรับองค์รวมของบัญญัติ 7 ประการนั้น ในข้อ 1 สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ หากจะเริ่มต้นที่
 
1. การแก้ปัญหาของโรค (อาการต่างๆ)
2. การฟื้นฟูสุขภาพ (ในขณะที่มีอาการต่างๆ)
3. การป้องกันโรค (อาหาร)
 
นับเป็นวิธีที่เรียนรู้ได้ง่ายโดยไม่ต้องท่องจำเท่านั้น  ประหยัดลดอัตราเสี่ยง (ปลอดภัย)  หากรู้กายวิภาคและทำให้ปลอดเชื้อ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูง คือ คุ้มค่า ซึ่งหวังเป็นอย่างมากว่าในอนาคตจะได้รับการยอมรับมากขึ้น และนำไปพัฒนาประชาชนเพื่อบรรลุเป้าหมายของสุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543 หรือนำปพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยการสร้างเสริมปัญญาของชนชาวไทยกันเอง ให้หันมาใช้เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมาในร่างกายมนุษย์ด้วยกันเองก่อนที่เอื้อมไปหยิบของแปลกปลอมมาให้กับตัวมนุษย์กันเอง  นี่คงจะเป็นทางเลือกทางหนึ่งเพื่อความสุขของมวลมนุษย์
 
ตีพิมพ์ในหนังสือ องค์รวมแห่งสุขภาพ ทัศนะใหม่เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิตและการบำบัดรักษา
 
พระไพศาล วิสาโล บรรณาธิการ. "องค์รวมแห่งสุขภาพ ทัศนะใหม่เพื่อดุลยภาพแห่งชีวิตและการบำบัดรักษา." กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2536.



ชื่อ
เบอร์โทรศัพท์
อีเมล
หัวข้อ
รายละเอียด




บทความ

ดุลยภาพบำบัดโรค
ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยการแพทย์ผสมผสาน
ดุลยภาพศาสตร์กับการปฏิรูประบบสาธารณสุข "สูงสุดสู่สามัญ"
อาการหวัดและดุลยภาพบำบัด
ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ หมอนักสู้เพื่อการรักษาเยียวยาแบบดุลยภาพบำบัด
บทความเรื่อง "ถอดรหัสสุขภาพผู้บริหาร"
อาการปวดกับอัมพาต article
การตรวจสมดุลโครงสร้าง article



Copyright © 2011 All Rights Reserved.

บ้านสวนสหคลินิก Lifecare (Thailand) CO.,LTD.
ที่อยู่ :  เลขที่ 214 ปากซอยบางแวก 22 ถนนสายบางแวก(จรัญฯ 13 ) แขวง:บางแวก เขต:ภาษีเจริญ
จังหวัด :กรุงเทพมหานคร     รหัสไปรษณีย์ : 10160
เบอร์โทร :  02 865-8114-7
Email : bashaclinic@gmail.com
เว็บไซต์ : http://www.orchardpolyclinic.com