ReadyPlanet.com
dot dot
dot
หมวดหมู่สินค้าหรือบริการ
dot
bulletหนังสือ
bulletการรักษา
bulletการนวด
bulletการบริการ
bulletทีมแพทย์
bulletประสบการณ์ผู้ป่วย
dot
รวมลิงค์เว็บเพื่อนบ้าน
dot
bulletมูลนิธิดุลยภาพบำบัด
dot
Newsletter

dot


Dunyapab Facebook


ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ หมอนักสู้เพื่อการรักษาเยียวยาแบบดุลยภาพบำบัด

บทความเรื่อง "ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ หมอนักสู้เพื่อการรักษาเยียวยาแบบดุลยภาพบำบัด"
 
โดย กองบรรณาธิการนิตยสาร ครัว
 
 
หมอลดาวัลย์เกิดในกรุงเทพฯ แถวทุ่งมหาเมฆ จบการศึกษามัธยมปลายที่โณงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วดั้นด้นไปเรียนแพทย์ที่เยอรมัน  จบจากแพทย์ที่นั่นกลับมาอินเทิร์นที่บ้านเกิดและอยู่เป็นแพทย์ประจำที่โณงพยาบาลศิริราชตั้งแต่นั้นมา  หลังทำงานได้สองปี ก็กลับไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านดมยาที่เยอรมันตามความต้องการและขาดแคลนของโรงพยาบาลในขณะนั้น  ตลอดชีวิตการเป็นหมอได้สนใจการรักษาแบบฝังเข็ม ได้ฝึกปฏิบัติเนการฝังเข็มประกอบการรักษาและผ่าตัดมานานถึง ๕ ปี จึงได้ขันอาสายามโรงพยาบาลต้องการไปศึกษาด้านฝังเข็มเพิ่มเติมโดยตรงจากประเทศจีน  จากนั้นก็กลับมาทำงานด้านฝังเข็มอย่างแข็งขัน มีแผนกฝังเข็มโดยตรงของโรงพยาบาลศิริราช
 
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะหาคำตอบของการรักษาที่นำไปสู่สุขภาพสมบูรณ์ที่แท้จริงของมนุษย์ หมอลดาวัลย์จึงไม่ยอมหยุดที่ฝังเข็มหากแต่ได้ศึกษาโครงสร้าง โครงสร้างของมนุษย์ อาการเจ็บปวดเจ็บป่วยอย่างจริงจัง  ค้นหาว่าอะไรเป็นต้นเหตุอย่างแท้จริงจนกระทั่งได้ค้นพบการรักษาที่เรียกว่า “ดุลยภาพแห่งชีวิต” ขึ้น  เมื่อหมอลดาวัลย์อยู่ในวิชาชีพนี้ย่างเข้าปีที่ 20 ทำการศึกษาค้นคว้าและใช้ในการรักษามากว่า 10 ปี ในพ.ศ.นี้  พร้อมกับที่สร้าง “โรงพยาบาลบ้านสวน” ขึ้นมา
 
หมอลดาวัลย์มีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ  ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เยอรมนี  จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ EPPENDORF, HAMBURG เยอรมนี  การทำงาน อดีต หัวหน้าหน่วยฝังเข็มและระงับปวด ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศษสตร์ศิริราช มหาวทิยาลัยมหิดล  ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพ (HEAL) ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านสวน (ปัจจุบัน บ้านสวนสหคลินิก) เป็นผู้ก่อตั้งชมรมฟื้นฟูสุขภาพ ชมรมแพทย์ฝังเข็มเพื่ออายุและสุขภาพ สมาคมฝังเข็มเพื่อสุขภาพ มู,นิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพ (HEAL) โรงพยาบาลบ้านสวน
 
หมอลดาวัลย์สมรสกับ นายเฉลียว สุวรรณกิตติ มีธิดาด้วยกัน 4 คน คือ งามเฉลียว โสมไฉไล ดาวพุธ ดังใจ  ปัจจุบันอายุ 54 ปี  รับราชการที่โรงพยาบศิริราชมากว่า 30 ปี เพิ่งลาออกเมื่อเดือนตุลาคม 2538
 
 
ครัว: อยากให้คุณหมอเล่าเรื่องวัยเด็กให้ฟังค่ะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์: ดิฉันเป็นคนที่สองในพี่น้อง 6 คน คุณพ่อชื่อมงคล นาวิกผล  คุณแม่ชื่อพัชรา  คุณยายเป็นคนธรรมะธัมโมชอบทำบุญ นั่งวิปัสสนา  พวกเราไปวัดปากน้ำกันบ่อยมาก  ตัวดิฉันเป็นเด็กซน ชอบปีนป่าย ชอบสนุกสนาน ชอบเล่น  ที่วัดปากน้ำมีต้นไม้แยะ เขียวขจีไปหมด  ดิฉันก็ได้ต้นไม้ที่วัดนี่แหละเป็นที่เล่นซุกซนของพวกเราเด็กๆ  ตอนบ่ายๆ คุณยายเปิดบ้านเป็นสถานวิปัสสนา ดิฉันก็พลอยถูกบังคับให้นั่งสมาธิไปกับคนอื่นๆ ด้วย
 
 
ครัว: ตอนนั้นคุณหมออายุเท่าไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ยังเล็กมาก ยังอยู่ชั้นประถมเลย และใกล้ชิดเรื่องสมาธิมาจนกระทั่งโตนั่นแหละค่ะ  อันที่จริงตั้งแต่แรกเกิดคุณยายก็ขอดิฉันไปเลี้ยง  แม้เมื่อโตแล้วจะกลับมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ยังไปๆ มาๆ อย่างสม่ำเสมอและใกล้ชิดภารกิจของคุณยายเสมอมา
 
 
ครัว: ทำไมคุณหมอจึงเลือกเรียนแพทย์ที่ประเทศเยอรมันด้วยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  เรื่องมันยาวสักนิด  ตอนนั้นดิฉันเรียนอยู่ที่อัสสัมชัญคอนแวนต์ ลูกของเพื่อนๆ คุณแม่ก็ไปเรียนอินเดียกัน  คุณแม่บอกให้ดิฉันเรียนจบ ม. 6 ก่อนแล้วค่อยว่ากัน  พอดิฉันจบ ม.๖ คุณแม่ก็บอกให้จบม.๘ ก่อน  ดิฉันก็ไปเรียนม.๘ ต่อที่เตรียมอุดม  พอจบแล้วพี่น้องไปเรียนที่อังกฤษกัน  คุณแม่บอกว่าไปที่เยอรมันดีกว่า ยังไม่มีใครไป พอดีมีญาติอยู่ที่นั่นก็เลยไปเรียนที่นั่น
 
เรื่องการเรียนแพทย์คุณแม่เป็นผู้ชี้แนวทางให้ ทั้งนี้เพราะท่านเคยไปอยู่ศิริราชซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสถานที่เล็กๆ อยู่เลย  ท่านเห็นความทุกข์ทรมานของเพื่อนมนุษย์เป็นที่น่าเวทนา คุณแม่จึงตั้งใจอยากให้ลูกสักคนเรียนแพทย์  ความรู้สึกอันนี้ของท่านฝังอยู่ในใจดิฉันด้วยเหมือนกัน ก็เป็นอันตกลงเรียนแพทย์  ผู้ใหญ่ทางเยอรมันเองก็หนุนว่า ถ้าเรียนแพทย์เรียนที่เยอรมันดีที่สุด ไม่ฟุ้งเฟ้อ สอนให้แพทย์รู้จักตัวเอง รู้จักคนไข้ในจุดของความเจ็บปวด ทุกข์ระทม  จุดนี้ดิฉันสัมผัสได้จริงๆ อาจเป็นเพราะเมื่อวัยเด็ก ในวันเกิดของเรา คุณแม่ก็พาไปโรงเรียนตาบอด หูหนวก เด็กกำพร้า แทนที่จะเป็นการจัดงานสังสรรค์รื่นเริง ทำให้เห็นความทุกข์ยากของผู้คนแต่นั้นมา
 
 
ครัว: การเรียนแพทย์ที่เยอรมันยากมั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ยากตั้งแต่เรื่องภาษา แต่การเรียนเขาดีตรงที่เขาให้เรารู้จักตัวเองก่อนเรียน ด้วยการให้ไปสัมผัสสภาพการแพทย์ตามที่ต่างๆ ตามหัวเมือง เพื่อเป็นการเช็คจุดยืนของเราว่า เราชอบการเป็นแพทย์แน่นะ เราพร้อมที่จะสละชีพเพื่อวิชาชีพนี้ได้นะ  เมื่อเรามั่นใจตนเองนั่นแล้วจึงลงมือเลือกเรียนวิชาแพทย์ได้
 
 
 
ครัว: ดูเหมือนคุณหมอจะได้รับอิธิพลจากคุณแม่มากเลยนะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  มากเลยทีเดียว  เริ่มจากเรื่องความอดทนนะคะ  ก็คุณแม่อีกนั่นแหละให้ดิฉันเรียนทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ  ท่านบอกว่าภาษาไทยนั้นอยู่แค่ปากอ่าว ถ้าเราจะออกจากอ่าวก็ต้องเรียนภาษาชาติอื่นเขา  คุณแม่เป็นคนที่มองการณ์ไกล  ท่านเป็นแม่บ้านเป็นแคชเชียร์ของบ้าน เพราะคุณตาคุณยายนับว่าเป็นคหบดีที่มีฐานะพอสมควรรนหนึ่งทีเดียว  ความอดทนอันหนึ่งที่ท่านฝึกให้ลูก คือช่วยตนเอง ตั้งแต่ในบ้านคือเก็บกวาดถูบ้าน ซื้อกับข้าว ทำกับข้าว ถูกบังคับให้ทำทุกคน  เรื่องอาหารการกินท่านเน้นมากว่า อาหารเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เป็นยาวิเศษของสุขภาพ  นอกจากนี้ดิฉันยังได้รับความรู้เกี่ยวกับแพทย์พื้นบ้านพื้นเมืองจากท่านอีก  ก็ตอนเด็กท่านจับพวกเราลูกๆ กวาดปากด้วยยากลวาดปากแสงหมึกผสมเกลือกับน้ำมะนาว เปรี้ยวเค็มๆ อร่อยดี  พอใครเป็นอีสุกอีใส คุณแม่ก็เอาผักชี แห้ว มาต้มให้อาบ จะได้ไม่เป็นแผลเป็น  กินข้าวก็เป็นข้าวซ้อมมือหุงจากหม้อดิน  เลิกเรียนมาก็โอวัลติน  ตอนทำการบ้านก็น้ำส้มคั้น  ตอนเช้าก็ไข่ลวก เรียกว่าดูแลอาหารการกินลูกอย่างใกล้ชิดและมีคุณภาพ  แม้เมื่อท่านต้องออกไปช่วยงานนอกบ้านอย่างเต็มเวลาแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ละเลยการดูแลลูกๆ  นี่เป็นจุดสำคัญทีดิฉันได้เรียนรู้จากครอบครัวและเป็นจุดบันดาลให้สนใจวิชาด้านแพทย์
 
 
 
ครัว: การเรียนแพทย์ที่เยอรมันต่างจากของไทยเรามั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ต่างกันอย่างมากเลย  การเรียนแพทย์ที่นั่น คุณต้องทำทุกอย่าง สัมผัสกับคนไข้ทุกส่วน  เราต้องเทกระโถนเอง กวาด เช็ดถู เก็บที่หลับที่นอนคนไข้ เช็ดตัวให้คนไข้ คอยพูดคุย ตรวจสอบอาการไข้อาการเจ็บปวดของคนไข้  ดูปัสสาวะดูอุจจาระของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร  เรียกว่าต้องทำเองหมดเลย  ไม่ใช่ไปดูเฉยๆ แล้วก็ผ่านเลยไป  ส่วนการเรียนเหมือนกัน ของเราเรียนเป็นเทอมแล้วก็สอบเป็นเทอมๆ ไป  ของเยอรมันเรียนต่อกันรวดสองปี สามปี สี่ปี ห้าปี  ทุกอย่างที่เรียนมาถูกเรียกสอบได้หมด เวลาไหนก็ได้  แสดงว่าแพทย์ต้องรู้ทุกระบบ และต้องรู้ตลอดเวลาด้วย  รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้เพื่อเอาไว้สอบ สอบแล้วก็ผ่านเลย ไม่ใช่อย่างนั้น  เพราะทุกส่วนทุกระบบทำงานสัมพันธ์กันหมด  เมื่อล้มป่วยก็ต่อเนื่องกันหมดเช่นเดียวกัน
 
 
 
ครัว: เมื่อจบแพทย์จากเยอรมันแล้วล่ะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  พอจบแพทย์ที่นั่นแล้ว ก็เลือกมาอินเทิร์นที่ศิริราช เพื่อจะได้มาสอบเอาใบประกอบโรคศิลป์  นี่ก็เป็นเรื่องแปลกอีกอย่าง คือเรียนมาลำบากลำบนแล้ว สอบได้ปริญญาแล้วก็ต้องมาสอบรอบสองที่เมืองไทยเอาใบประกอบโรคศิลป์
 
 
 
ครัว: ช่วงมาอินเทิร์นที่ประเทศไทย คุณหมอพบอุปสรรคอะไรมั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ลำบาก ถูกเพื่อนฝูงล้อเลียน  พวกพยาบาลเหมือนกัน ขำเรา  เพราะเราไม่เหมือนคนอื่น เรียกชื่อเป็นภาษาเยอรมัน  คนอื่นเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษกัน  กว่าจะลำดับชื่อโรคภัยไข้เจ็บได้ ก็รู้สึกลำบากอยู่เหมือนกัน  แต่ดิฉันเป็นคนสนุก ไม่ค่อยคิดอะไร  ก็เลยไม่รู้สึกว่าอายหรือกดดันอะไร
 
 
 
ครัว: แล้วคุณหมอเลือกเรียนวิสัญญีแพทย์ตอนไหนล่ะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  พอเข้าเป็นแพทยี่ศิริราช ก็จะต้องเลือกแล้วว่าจะเข้าภาควิชาไหน  ช่วงสองปีที่เป็นแพทย์นั้นก็ลองดูอยู่หลายภาควิชา  ครั้งแรกสนใจด้านเด็ก รักเด็กก็อยากเป็นหมอเด็ก  เมืองไทยช่วงนั้นขาดแคลนวิสัญญีแพทย์มากก็เลยเข้าไปลองดูทางด้านหมอดมยา  หัวหน้าภาคคืออาจารย์สลาด อาจารย์เป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักมาก เหมือนผาย ตรงไปตรงมา  พอเข้าห้องผ่าตัดเกิดความรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทาย  เมื่อเขาขาดแคลน ก็แปลว่าเขาต้องการเรา เราก็คงทำประโยชน์ได้เยอะ จึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อทางด้านวิสัญญีแพทย์หรือดมยา  ก็ต้องย้อนกลับมาเรียนต่อที่เยอรมันอีกครั้งหนึ่ง  เรียนสองปีก็กลับมาประเทศไทย
 
 
 
ครัว:  คุณหมอเริ่มสนใจเรื่องฝังเข็มเมื่อไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  พอกลับเมืองไทยหลังจากจบวิสัญญีแพทย์แล้ว  อาจารย์หัวหน้าภาคสนใจเรื่องการฝังเข็มมาก ไปศึกษาวิชาฝังเข็มมา และเปิดหน่วยฝังเข็มในห้องไอซียูของวิสัญญี  ท่านทำจริงจังมาก
 
 
 
ครัว: ช่วงชีวิตแพทย์ของคุณหมอที่ศิริราชกี่ปีคะ ก่อนไปเมืองจีน
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  กลับมาประมาณ ๒-๓ ปี ก็ทำงานที่ภาควิชาวิสัญญีวิทยาอยู่แล้วประมาณ ๓-๔ ปี เริ่มต้นอาจารย์สลาดไปดูงานก่อน พอเริ่มมีสัมพันธไมตรีกับจีนก็มีทุนให้ไปเรียนในปีที่ ๕
 
 
 
ครัว: ปีที่ ๕ ของชีวิตแพทย์เหรอคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ไม่ใช่ชีวิตแพทย์แต่เป็นห้าปีของวิสัญญีแพทย์  เลือกเรียนฝังเข็มเพื่อแทนดมยาสลบ คือฝังเข็มมีสองวิธีคือฝังเพื่อรักษาโรคกับฝังเพื่อระงับปวดแทนยาสลบกับยาชา
 
 
 

ครัว: ตอนที่คุณหมอไปจีน ไปกันกี่คนคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  คือมีไปเป็นช่วงๆ แต่ตอนดิฉันไปนั้นไปคนเดียวค่ะ
 
 
 
ครัว: แล้วคุณหมอแต่งงานตอนไหนคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ดิฉันจบผู้เชี่ยวชาญสาขาวิสัญญีวิทยาจากการไปเยอรมันครั้งที่ 2 มาอายุก็ ๒๘ ปี  แต่งงานไมม่นานจากนั้นก็คงประมาณ ๒๙ ปีค่ะ
 
 
 
ครัว: คุณหมอไปเรียนฝังเข็มที่เมืองไหนของประเทศจีนคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ส่วนใหญ่แพทย์ไทยจะไปที่นานกิงซึ่งเขาก็สอนฝังเข็มรักษาโรค  เราก็สนใจฝังเข็มเพื่อการผ่าตัดจึงขอไปที่กวางตุ้งและกวางโจว  ที่นั่นมีการผ่าตัดหัวใจและสมองด้วยวิธีฝังเข็ม  ตอนนั้นทำงานหนักมาก วันหยุดก็ไม่หยุด ไม่ไปเที่ยว แต่ไปดูการฝังเข็มตามโรงพยาบาลเล็กๆ และขอไปดูฝังเข็มที่ปักกิ่งแล้วเซี่ยงไฮ้ซึ่งต้องทำเรื่องนานเพราะครั้งแรกขอไปดูการผ่าตัดที่กวางเจา เพราะที่นั่นมีการวิจัยว่าทำไมจึงต้องฝังเข็ม  ใช้ได้ผลอย่างไร ฝังแล้วเกิดอะไรขึ้น
 
 
 
ครัว:  ไปนานมั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  สามเดือนค่ะ
 
 
 
ครัว: กลับเมืองไทยก็เริ่มใช้วิธีฝังเข็มเลยหรือเปล่าคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  พอกลับมาเมืองไทย ก็สอนให้หมอที่สนใจฝังเข็ม  หมอที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มมาเรียน  ต่อมาก็เปิดคลินิกฝังเข็มขึ้นกับภาควิสัญญีแพทย์ และทำเป็นห้องแลปเพื่อทำงานวิจัยเลยว่า ฝังเข็มแล้วสามารถที่จะระงับปวดได้อย่างไร ฝังเข็มรักษารึอย่างไร  อาจารย์สลาดเริ่มต้นที่การผ่าตัดไทรอยด์ ผ่าตัดไส้ติ่งกิ่น
 
 
 
ครัว: แล้วรักษาโรคล่ะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  รักษาโรคหืดหอบ
 
 
 
ครัว: คลินิกนี้เปิดนานมั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  เปิดมา ๒๐ ปี ตอนนี้ก็ปิดไปแล้ว
 
 
 
ครัว:  ทำไมจึงปิดล่ะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ต้องไปถามผู้บริหารค่ะ
 
 
 
ครัว:  ในเรื่องของฝังเข็มนั้น นำไปสู่ภาวะดุลยภาพแห่งชีวิตอย่างไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ค่ะ ก็เลยเริ่มต้นมองและวิเคราะห์เห็นว่าการฝังเข็มก็เป็นจุดเดิมๆ คนไข้ก็เจ็บตัวด้วย  ฟื้นตัวก็ชั่วคราวก็เลยหันมาดูองค์รวมของร่างกายว่ามันสัมพันธ์กันหมด  จะรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอาการนั้นไม่ถูกหลักแน่  ตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น เวลากล้ามเนื้อเกร็งมันกดทับเส้นประสาท กดทับหลอดเลือด เลือดก็หมุนเวียนไม่ดี  ตรงบริเวณนั้นจะมีสารบางตัวหลั่งออกมา ก็จะเกิดอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น กระดูกก็บิดเบี้ยวตามไปด้วย
 
 
 
ครัว:  กระดูกนี่กระดูกอะไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ร่างกายคนเรามีแกนอยู่กลางตัว  แกนนั้นก็คือแนวกระดูกสันหลัง  แนวตรงนี้จะเป็นตัวทำให้เกิดดุลยภาพในร่างกาย  ถ้าแกนตรงนี้บิด โครงสร้างทุกอย่างภายในร่างกายก็จะบิดเบี้ยวหมด ตั้งแต่กล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน เส้นเอ็น หลอดเลือด เส้นประสาท  ในทางตรงกันข้าม ถ้ากล้ามเนื้อเกร็งก่อน ก็จะส่งผลต่อแกนกลางด้วย  ฉะนั้นการรักษาจึงมาถึงจุดที่ว่าต้องรักษาแบบองค์รวมโดยใช้หลักการ “ดุลยภาพ” นั่นเอง
 
 
 
ครัว:  คุณหมอรักษาแบบดุลยภาพบำบัดนั้น ทำอย่างไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  เริ่มต้นด้วยการบริหารจิต  ต่อด้วยบริหารกายเป็นการผสมผสาน  เรื่องฤาษีดัดตน มวยจีน โยคะ ชิกง เดินลมปราณ พลังจักรวาล รวมทั้งการนวดไทย เดินจงกรมทำให้กลมกลืนกับร่างกายที่ไม่สมดุลอย่างมากของคนไทยในภาวะปัจจุบัน  เลือกท่าเฉพาะในท่าที่รักษาความสมดุลแต่ละคน มาฝึกสอนคนไข้ให้ช่วยตัวเองในแต่ละกรณีเพื่อปรับแกนดุลยภาพให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงหรือคืนสู่ภาวะปกติให้ได้  คนไข้ก็ดีวันดีคืน อาการเจ็บปวดและเจ็บป่วยที่ทรมานก็หายไป ที่เป็นอัมพาตก็เริ่มช่วยตัวเองได้  คนไข้ก็ชื่นอกชื่นใจกัน
 
 
 
ครัว:  เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณหมอมีความคิดเห็นเกี่ยวกับแพทย์ปัจจุบันอย่างไรคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  นี่ไงคะ สังคมการแพทย์ตะวันตกที่เป็นกระแสหลักในเมืองไทยจะเน้นแพทย์เฉพาะทางมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราหลงทาง เพราะฉะนั้นเราน่าจะเริ่มต้นกันใหม่ เปิดตำรากันใหม่ เพื่อมาตรวจร่างกายทั้งระบบ ดูจากอวัยวะภายนอก → ภายใน และภายใน → ภายนอก  ดูว่าแกนมันบิดไปตรงไหน  กล้ามเนื้อมันก็ต้องตามไปตรงนั้น  หลอดเลือดเส้นประสาทก็บิดไปด้วยกัน  ระบบอัตโนมัติที่ไปเลี้ยงอวัยวะก็ต้องบิดตรงนั้นด้วย  ซี่โครงหลังก็บิดตามไปหมด  ซี่โครงบิดปอดที่อยู่ทั้งสองข้างก็บิดด้วย  ขาแขนบิด คราวนี้ศีรษะก็บิดเอียงตาม  อาการเจ็บป่วยก็เกิดขึ้น  ทีนี้เมื่อหมอรักษาเฉพาะส่วนเฉพาะอวัยวะ ก็ได้เฉพาะส่วนไป แต่แกนทั้งระบบไม่ถูกปรับไม่ถูกรักษา อาการก็กลับมาที่เดินอยู่ดี ได้แต่ระงับหรือประคับประคองอาการที่เป็นเท่านั้น
 
 
 
ครัว:   การรักษาแบบดุลยภาพบำบัดคนไข้มีส่วนด้วยมั้ยคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  มีส่วนอย่างมากเลย ดังพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า “อัตตาหิ อัตตโนนาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน  ดิฉันก็เลยต้องกลายเป็นหมอนักเล็คเชอร์  เพราะต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง ให้เข้าใจสภาพร่างกายของตนเอง จากนั้นก็ต้องพยายามช่วยตนเองในการเคลื่อนย้ายให้ถูกจังหวะ ให้ออกกำลังกายให้ถูกท่า เพื่อค่อยๆ ปรับแกนที่บิดคืนกลับเข้าที่โดยไม่ต้องให้คนอื่นผลักอย่างรุนแรง
 
 
 
ครัว:   หนึ่งในวิธีดุลยภาพบำบัดก็คือ อาหารและดุลยภาพ  อาหารกับผลไม้ล่ะคะเป็นตัวช่วยได้อย่างไร
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ผลไม้มีบทบาทที่สำคัญทำให้เกิดดุลยภาพในร่างกายเป็นอย่างมาก เพราะในผลไม้มีวิตามินแร่ธาตุสารพันชนิด มีเกลือแร่ด้วย ยังมีโปรตีนในผลไม้บางชนิดอีกด้วย  ที่สำคัญผลไม้มีเส้นใยสูง ซึ่งวงการสุขภาพกำลังกล่าวขวัญถึงเส้นใยในผักผลไม้ว่า มีประสิทธิภาพในการขจัดพิษออกจากร่างกาย ขจัดสิ่งปฏิกูลออกจากลำไส้  บำรุงร่างกายในทุกส่วนได้เป็นอย่างดี แถมยังรักษาโรคได้อีกด้วย  ดังนั้นผลไม้จึงเป็นอาหารที่สำคัญที่ก่อให้เกิดดุลยภาพในร่างกาย
 
 
 
ครัว:  คุณหมอช่วยเล่าวิถีชีวิตคุณหมอกับผลไม้ให้ฟังหน่อยสิคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  ดิฉันเป็นคนง่ายๆ กินผลไม้ง่ายๆ พื้นๆ นี่แหละค่ะ  เช่นกล้วยน้ำว้าล่ะไม่เคยขาดบ้านเลยค่ะ  ฝรั่ง มะละกอ ส้ม เป็นต้น  ดิฉันจะกินหมุนเวียนกันไปแล้วแต่ว่าอย่างไหนมีให้กิน
 
 
 
ครัว:   โรงพยาบาลบ้านสวนตั้งมานานหรือยังคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  อันที่จริงโรงพยาบาลบ้านสวนตั้งมากว่า ๑๐ ปีแล้วค่ะ แต่ย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ เพิ่งมาลงหลักที่นี่ก็สองสามปีแล้วค่ะ  ตอนนี้ก็ชักแคบลงอีกแล้วเพราะคนไข้เพิ่มมากขึ้น
 
 
 
ครัว:   ทำไมจึงให้ชื่อว่าโรงพยาบาลบ้านสวนล่ะคะ
 
พ.ญ.ลดาวัลย์:  คือมีความหมายน่ะค่ะ โรงพยาบาลบ้านสวนเปิดทำการในบ้านที่มีสวนกล้วยไม้ มะพร้าว ล้อมรอบ ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนบ้านที่สะดวกเหมือนโรงแรม ได้รับความรู้เหมือนโรงเรียนพร้อมทั้งได้รับการรักษาพยาบาลเหมือนโรงพยาบาล
 
 
 
ดุลยภาพบำบัด อีกการรักษาใหม่ที่ให้ทางเลือกกับคนไข้ ชนิดคืนร่างกายของเราสู่ธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งดุลยภาพบำบัดก็คือการนำวิธีการรักษาแบบธรรมชาติแต่โบราณกลับมาใช้รักษาคนไข้ใหม่ในยุคไฮเทคนั่นเอง
 
 
 
 
 
ตีพิมพ์ในนิตยสาร ครัว: นิตยสารอาหารและการครัว ปีที่  3 ฉบับที่ 27 (กันยายน 2539) หน้า 100-105
 




บทความ

ดุลยภาพบำบัดโรค
ปวดหลัง ปวดเอว ด้วยการแพทย์ผสมผสาน
ดุลยภาพศาสตร์กับการปฏิรูประบบสาธารณสุข "สูงสุดสู่สามัญ"
อาการหวัดและดุลยภาพบำบัด
บทความเรื่อง "ถอดรหัสสุขภาพผู้บริหาร"
ฝังเข็ม การรักษาเฉพาะจุดที่มีผลต่อองค์รวม article
อาการปวดกับอัมพาต article
การตรวจสมดุลโครงสร้าง article



Copyright © 2011 All Rights Reserved.

บ้านสวนสหคลินิก Lifecare (Thailand) CO.,LTD.
ที่อยู่ :  เลขที่ 214 ปากซอยบางแวก 22 ถนนสายบางแวก(จรัญฯ 13 ) แขวง:บางแวก เขต:ภาษีเจริญ
จังหวัด :กรุงเทพมหานคร     รหัสไปรษณีย์ : 10160
เบอร์โทร :  02 865-8114-7
Email : bashaclinic@gmail.com
เว็บไซต์ : http://www.orchardpolyclinic.com